‘ณพลเดช’ ยกคำพิพากษา คดีโฆษณาเหล้า สอนมวย ศรีสุวรรณ เตือนร้องมั่วระวังคุก

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายณพลเดช มณีลังกา อดีตเลขานุการกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ร้องคุณพิธา โฆษณาสุราออกสื่อ ฝากนักร้องมั่วครับ อ่านกฎหมายให้ขาด ไม่งั้นติดคุกหัวโตครับ จากข่าววันนี้ ที่คุณศรีสุวรรณ จรรยา ไปร้องเอาผิด คุณพิธา อ้างโฆษณาสุราออกสื่อออนไลน์หาว่าผิดกฎหมายนั้น ผมเห็นไปร้องที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังจากไปออกรายการ กรรมการข่าว “คุยนอกจอ” ของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดยอ้างว่า นายพิธากล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบายสุราก้าวหน้า และรสนิยมการดื่มของตัวเอง พร้อมกับเปิดเผยชื่อยี่ห้อและเชียร์สุราชุมชนที่ตัวเองดื่มหลายชื่อและหาว่าผิดตาม ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 32 ซึ่งมีโทษจำคุกและจะขาดคุณสมบัติรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) ที่ว่า ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก นั้น

อยากจะเรียนอย่างนี้ ฝากคุณศรีสุวรรณ อ่านกฎหมายให้เข้าใจและถ่องแท้ก่อนที่จะมาร้องเรียน ตามประมวลกฎหมายอาญา “ท่านจะไม่ใช่ดูการกระทำอย่างเดียว ต้องดูเจตนาด้วย” ในกฎหมายเขียนว่า “ห้ามโฆษณา” นัยนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายเขาหมายถึง “ตามนิยามของ การสื่อสารการตลาด” เป็นการโฆษณา ที่มีเป้าประสงค์เพื่อที่จะค้าขายและสร้างกำไรจากโฆษณานั้นๆ แต่คุณพิธาเขาพูดถึงนโยบายของว่าที่รัฐบาล ที่จะผลักดันนโยบายเหล่านี้มันคนละเรื่องกันนะครับ งานนี้ร้องให้ตายก็แพ้ครับ เสียเงินเวลานั่งรถไปเสียเปล่าไม่อ่านกฎหมายให้ขาด

อย่างไรอยากจะให้แนวคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อย.838/2560 ลงวันที่ 12 ก.ย.2560 ที่ศาลจังหวัดแพร่ เป็นคดีของลุงจุ่น ที่พนักงานอัยการจังหวัดแพร่ ยื่นฟ้องครับ เรื่องมีว่าลุงจุ่นไม่มีเจตนาจะโฆษณา แต่ที่ร้านขายของของลุงจุ่นมีป้ายและกล่องทิชชูที่มีโลโก้ของบริษัทขายสุราอยู่ เหมือนว่าจะเชิญชวนให้ดื่มอะไรอย่างนั้น สุดท้ายลุงจุ่นชนะคดีด้วยศาลยกฟ้องครับ เพราะแกไม่มีเจตนาจะโฆษณาครับ ผมขอยกตัวอย่างบางท่อน ของคำพิพากษาดังนี้ครับ”

นายณพลเดช ระบุอีกว่า “คำพิพากษา ลุงจุ่น ชนะเรื่องโฆษณาขายสุรา จำเลยเป็นเพียงผู้จำหน่ายมิใช่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเลยจึงมิใช่ผู้ประกอบกิจการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามนัยความหมายของการโฆษณาดังกล่าว ดังนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการทำให้ประชาชนเห็นภาพที่เข้าใจได้ว่าเป็นภาพเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่จำเลยมิได้กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้า จึงไม่ถือเป็นการ “โฆษณา” ตามนัยความหมายของ มาตรา 3 พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ลักษณะของ “การกระทำกิจกรรม” การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ “การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ” ตามนิยามของ การสื่อสารการตลาด ดังนี้แม้จำเลยจะกระทำให้ประชาชนเห็นภาพเครื่องหมายการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่การกระทำของจำเลยไม่มีลักษณะเป็นการสื่อสารการตลาด จึงไม่ถือเป็นการ “โฆษณา” ตามนัยความหมายของมาตรา 3 พระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน “โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ตาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง “ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง

เรื่องนี้ลุงจุ่นจึงชนะแบบขาดลอยไปเลยครับ พี่น้องประชาชนไม่ต้องห่วงนะครับ ว่านักร้องจะไปร้องประเด็น หุ้นสื่อITV (แม้จะมอบให้ทายาทไปแล้ว) ที่ผมฟังธงตั้งแต่แรกละครับว่าคนร้องแพ้ครับ และล่าสุดร้องเรื่องโฆษณาแอลกอฮอล์ ก็ต้องตกไปแบบเดียวกันครับ การกระทำที่คนร้องวิ่งไปร้อง เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เข้าข่ายผิดมาตรา 137 ,173 ,174 และ 328 มีคุกเป็นที่ไปนะครับ ร้องมากๆ ระวังภัยถึงตัวครับ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Would you like to receive notifications on latest updates? No Yes